วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เคล็ดวิชารับศึก Admission 2553

การสอบAdmission




เคล็ดวิชารับศึก Admission 2553

เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นนิสิต/นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งแต่ละคนต้องผ่านด่านการสอบแข่งขันที่แสนโหด บางคนฝึกวิทยายุทธ์ กำลังสมองเตรียมพร้อมลงสนามมาอย่างเต็มที่ แต่บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเริ่มต้น และเตรียมตัวอย่างไรกับการสอบที่กำลังจะมาถึงในปีหน้านี้

การศึกษาดอทคอม มุ่งเน้นให้น้องๆที่กำลังเตรียมตัวสอบ Admission เข้าสู่รั่วมหาลัยในปีหน้านี้ เริ่มเตรียมตัวก่อนใคร มุ่งมั่นสู่คณะที่หวังแต่อย่างเครียดกับการสอบมากเกินไป ทางการศึกษาดอทคอมจึงได้รวม แนวคิดดีๆจากน้องๆที่ประสบความสำเร็จ นำมาสรุปให้ในบทความนี้ ลองดูกันว่าแต่ละคนจะมีเคล็ดลับอะไรมาฝากกันบ้าง




วันนี้มีรุ่นพี่คนเก่งที่ผ่านสนามสอบคัดเลือกระบบแอดมิชชัน 51 และทำคะแนนสูงสุดติดอันดับประเทศ และสูงสุดของแต่ละคณะ มาเผยไม้เด็ด เคล็ดลับการเรียนกัน และนอกจากนี้ ยังมีผู้ใหญ่ใจดีมาอธิบายสัดส่วนการสอบแอดมิชชัน ปี 53 ให้กระจ่างชัดอย่างเข้าใจ และเตรียมพร้อมอย่างถูกทาง รวมถึงนักจิตวิทยาแนะแนว ที่จะให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมก่อนสอบแอดมิชชันปีหน้านี้ด้วย

** ตั้งใจเรียนในชั้น มุ่งมั่นแต่ไม่กดดัน **

ถ้าพร้อมกันแล้ว...มาพบกับว่าที่นักเขียน/นักแปลอนาคตไกลอย่าง น.ส.กัญญานันท์ สังข์หล่อ หรือ กุ๋งกิ๋ง นิสิตปี 1 อักษรศาสตร์ จุฬาฯ อดีตนักเรียนโรงเรียนราชินีบน ผู้ทำคะแนนได้เป็นอันดับ 2 ของประเทศ และ อันดับ 1 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยคะแนน 91.04%

กุ๋งกิ๋ง เปิดเผยว่า เธอเตรียมตัวสอบ และเลือกคณะมาตั้งแต่ ม.4 มีความสนใจด้านภาษาเป็นพิเศษ เพราะสนุก และมีประโยชน์ต่อการติดต่อสื่อสาร จึงมุ่งมั่นทบทวนตำราเรียนอย่างสม่ำเสมอ เริ่มจากตั้งใจเรียนกับอาจารย์ในห้อง จับประเด็น ถ้าไม่เข้าใจให้ถามครูทันที เวลาอ่านหนังสือจะอ่านอย่างมีสมาธิ หลังอ่านจบแต่ละบท จะทบทวนอีกรอบ โดยพยายามจำ และนึกเนื้อหาออกเป็นภาพ เพื่อให้จำได้มากขึ้น เวลาว่างจะฟังเพลงคลายเครียด และเลือกเรียนพิเศษบ้างบางวิชา เพื่อเพิ่มความมั่นใจ และเทคนิคการสอบ แต่จะไม่ทิ้งการเรียนในห้องเด็ดขาด เพราะการสอบแอดมิชชันจะเน้นเนื้อหาจากตำราในห้องเรียนเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม กุ๋งกิ๋ง ยังฝากด้วยว่า การเตรียมตัวระยะยาวเป็นสิ่งสำคัญ อย่ารอให้ถึงช่วงสอบ แล้วมานั่งอ่าน และติวหนังสือ เพราะจะสร้างความกดดัน และเกิดความเครียด จนทำให้อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ส่งผลต่อการทำข้อสอบในที่สุด และ สิ่งสำคัญคือ การวางแผนชีวิต และค้นหาตัวตนอย่างเป็นระบบไว้ล่วงหน้า จะเป็นตัวสร้างธงให้เรา ถ้าเรามีธง ความมุ่งมั่น และตั้งใจจะเต็มร้อย ดังนั้น ต้องเลือกคณะในใจไว้ก่อน ว่าอยากเรียนอะไร มีความชอบด้านไหนมากเป็นพิเศษ รวมถึงต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับคณะที่เลือกให้มากที่สุด เพราะสิ่งที่เราเลือก คือครึ่งทางเดิน ที่เราเลือกให้ชีวิตในอนาคต“การติดตามข่าวเป็นเรื่องสำคัญ อย่าฝากความหวังไว้กับอาจารย์แนะแนวของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องตามข่าวด้วยตัวเอง เพราะจะได้รู้ และเข้าใจระบบแอดมิชชัน ว่า ขณะนี้เคลื่อนไหวไปถึงไหนแล้ว เพื่อจะไม่เสียเปรียบในภายหลัง และอยากจะบอกน้องๆ ทุกคนว่า จงทำ 24 ชั่วโมงของเราให้คุ้มค่าที่สุด อย่าปล่อยเวลาให้เสียไปกับความว่างเปล่า” กุ๋งกิ๋ง ฝากทิ้งท้าย



** จัดระบบความคิด ไม่ติดการท่องจำ **



สอดรับกับ นายวีกิจ เจริญสุข หรือ “ไอซ์” อดีตนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้ทำคะแนนได้เป็นอันดับ 3 ของประเทศและอันดับ 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ด้วยคะแนน 89.72% ที่เผยเคล็ดว่า อย่าไปคร่ำเครียดกับการอ่านหนังสือมากเกินไป เพราะความเครียดจะช่วยลดทอนความจำในระดับหนึ่ง การจะลดความกังวลได้นั้น ต้องเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ไม่ใช่มาเตรียมเอาตอนใกล้สอบ ฉะนั้น ต้องหาตัวเองให้เจอว่าชอบเรียนอะไรมากที่สุด ตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่าจะเรียนเพื่ออะไร ทำอะไร? จากนั้นเล็งคณะที่เหมาะสม จากคะแนนที่เรามี และความสะดวกในการเดินทาง ที่สำคัญต้องอ่านหนังสืออย่างมีสมาธิ มีอารมณ์ร่วมในการอ่าน รวมทั้งต้องควบคุม หรือจัดเวลาการอ่านอย่างเหมาะ
“ผมจะไม่เรียนแบบจำ แต่จะเน้นการวิเคราะห์ เชื่อมโยงความเป็นเหตุ และผลของเหตุการณ์ หรือเนื้อหามากกว่า เรียกว่า การจัดระบบความคิดอย่างเป็นระบบ เช่น การปฏิรูปการศึกษาของรัชกาลที่ 5 มีปัจจัยจำเป็นอะไรบ้าง คือทุกอย่าง เราต้องรู้ที่มาที่ไป และวิเคราะห์ย้อนกลับให้ได้ว่าเพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น นอกจากนี้การอ่านต้องนึกภาพตาม สนุกกับมัน จะทำให้เราเข้าใจมากขึ้น” น้องไอซ์เผยไม้เด็ด

** สำรวจความชอบตัวเองเล็งเป้าหมายให้ชีวิต **

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.คมเพชร ฉัตรศุภกุล นักวิชาการอิสระ (นักจิตวิทยาและการแนะแนว) ให้คำแนะนำว่า การเรียนคือการเตรียมตัว และเตรียมความพร้อมระยะยาว เพื่อการสร้างงานในอนาคต แต่ปัจจุบันเด็กเรียนเพื่อเก่ง เรียนเพื่อหวังคะแนน ไม่หวังเพื่อสร้างตัวเอง และการประกอบชีพ ทำให้เด็กคิด และทำอะไรไม่เป็น ดังนั้นจึงต้องเข้าใจสติปัญญาของตัวเอง และดูให้ออกว่า เราเหมาะกับการเรียนแบบไหน ค้นหาตัวเองให้พบก่อนที่จะเลือกคณะ หรือสาขาวิชา
นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า ผู้เรียนต้องสำรวจพฤติกรรมของตัวเองว่าชอบอะไรมากที่สุดในโลก เพราะถ้าเรียนแล้วไม่ชอบ จะส่งผลให้ตามหลังเพื่อน และคู่แข่งในวิชาชีพ ด้านความสนใจ เป็นองค์ประกอบทางจิตวิทยาที่สำคัญ ให้ดูว่ามีจิตใจจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานหรือไม่ ทั้งหมดคือการเตรียมตัวที่เด็ก และพ่อแม่ต้องสำรวจอยู่ตลอดเวลา เพื่อความเชื่อมั่น ศรัทธาในสาขาวิชาที่เลือกต่อไป
"เด็กไทยไม่รู้จักตัวเอง และไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม ยังเป็นปัญหาสังคมที่ต้องเร่งเสริมความบกพร่องดังกล่าว อาจเป็นเพราะการเรียนขาดการเชื่อมโยงระหว่างวิชา กับชีวิต ขาดการเรียนรู้กับธรรมชาติ เพราะการไม่รู้จักตัวตน ทำให้ไร้ธงของชีวิตที่แน่ชัด อาจหลงทาง และเดินทางผิดได้ ดังนั้น จึงต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ" นักจิตวิทยาและการแนะแนวเล่า
อย่างไรก็ตาม ดร.คมเพชร ยังบอกด้วยว่า การเตรียมตัวระยะสั้นไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์ เพราะเป็นการอัด และเรียนรู้แบบเคร่งเครียด เรียนลัดเพื่อใช้สอบ ไม่ใช่ความรู้ และความเข้าใจที่แท้จริง การสอบคือการเตรียมตัวระยะยาวที่ต้องสะสมองค์ความรู้มาตั้งแต่เกิด ที่สำคัญต้องอย่าลืมการสอดแทรกคุณธรรม และจริยธรรมให้แก่เด็ก และลูก เพราะการที่เก่ง แต่ไร้คุณธรรม และความดีงาม ไม่ใช่คนเก่งที่สมบูรณ์






** เตรียมพร้อมองค์ประกอบ **** แอดมิชชัน **



เมื่อเข้าใจแนวทางการเรียน และการสอบจากรุ่นพี่ และนักจิตวิทยาแนะแนวดังกล่าวแล้ว ผู้เข้าสอบต้องเข้าใจสัดส่วนคะแนนระบบแอดมิชชันด้วย ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้อธิบายถึงสัดส่วนคะแนนการสอบแอดมิชชันปี 2553
แอดมิชชันปี 2553 (Admission 53) (สำหรับนักเรียนชั้น ม.5) องค์ประกอบ และค่าน้ำหนักคะแนนจะประกอบด้วย จีพีเอเอ็กซ์ 20%, O-NET 30% นอกจากนี้ยังมีการสอบ GAT 10-50% เช่น ความสามารถในการอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ แก้โจทย์ปัญหา รวมถึงการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ สอบ 3 ชั่วโมง คะแนนเต็ม 300 คะแนน และ PAT 0-40% รวมทั้งสิ้น 100 % เพิ่มเติมอีกด้วย
สำหรับการสอบ PAT นั้น จะประกอบด้วย PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ (ทัศนศิลป์,ดนตรี,นาฏศิลป์) PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ (ฝรั่งเศสเยอรมัน ญี่ปุ่น จีน บาลี และอาหรับ) สอบ3 ชั่วโมงคะแนนเต็ม 300 คะแนน ข้อสอบปรนัย และอัตนัย (ที่ตอบแบบปรนัย)อย่างไรก็ตาม การสมัครสอบ จะสมัครปีละ 1 ครั้ง และสอบ 3 ครั้ง



"นักเรียนไม่จำเป็นต้องสมัครสอบทุกครั้ง และไม่จำเป็นต้องสมัครสอบทุก PAT ควรสมัครเฉพาะ PAT ที่เกี่ยวข้องกับคณะ หรือสาขาวิชาที่ต้องการ ส่วนคะแนนของ GAT/PAT สามารถเก็บไว้ได้ 2 ปี โดยจะเก็บเป็นรายวิชา นอกจากนี้ ทางเราได้เตรียมพร้อมสนามสอบไว้เกือบ 300 แห่ง เพื่อสะดวกในการเดินทางมาสอบ และแนวข้อสอบทั้ง 3 ครั้ง จะใช้รูปแบบเดียวกัน ซึ่งนักเรียนไม่ต้องกังวล" ผอ.สทศ.กล่าว



อย่างไรก็ตาม ทาง สทศ.ได้เปิดให้บริการ Call Center 02-975-5599 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ที่ต้องการสอบถามข้อมูล หรือสงสัยเกี่ยวกับการสอบ O-Net และการสอบ GAT/PAT โดยเปิดให้บริการทุกวัน (จันทร์-อาทิตย์) เวลา 07.00-19.00 น. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่
www.niets.or.th หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา www.cuas.or.th
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก: ASTVผู้จัดการออนไลน์ / www.niets.or.th



ข้อมูล Admissionเพิ่มเติม :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น