วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

พบสอบ O-NET เด็ก ป.6 ยังเดาพุ่ง สทศ.เล็งปรับคิดวิเคราะห์ขึ้น 50%

กวดวิชา ติวออนไลน์ ตะลุยข้อสอบ โดย เว็บการศึกษาดอทคอม kanzuksa.com

พบสอบ O-NET เด็ก ป.6 ยังเดาพุ่ง สทศ.เล็งปรับคิดวิเคราะห์ขึ้น 50%

สทศ.เตรียมปรับเข้มข้อสอบ O-NET ป.6 ปี’53 หลังครั้งล่าสุดพบช่องโหว่ทำยอดเด็กเดายังพุ่งปรี๊ด เล็งปรับใหม่ เน้นวิเคราะห์ทุกวิชา 50% เพิ่มบทความมากขึ้น หลายตัวเลือก หลายคำตอบ เหมือนของ ม.6

ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทศ.ได้วิเคราะห์ข้อสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ของนักเรียนชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 ประจำปีการศึกษา 2552 ผลปรากฏว่า การปรับรูปแบบข้อสอบ O-NET ในปีนี้ ส่งผลให้ค่าการเดาในทุกวิชาของนักเรียน ม.3 และม.6 ลดลง แต่ต่างกับ ป.6 ที่พบว่า ค่าการเดาในทุกวิชายังคงสูงอยู่ ดังนั้นในปีการศึกษา 2553 ทาง สทศ.จะปรับรูปแบบข้อสอบ O-NET ของ ป.6 ให้เข้มข้นขึ้นในทุกวิชา โดยจะปรับจำนวนข้อให้เด็กได้คิดวิเคราะห์มากขึ้น ประมาณ 50% ของข้อสอบ เพื่อให้ค่าการเดาลดลงเหมือนกับ ม.3 และ ม.6 เพราะในปีนี้เห็นชัดแล้วว่า การเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบให้มีหลากหลายรูปแบบ จะช่วยให้การเดาลดลง และช่วยจำแนกเด็กเก่ง และเด็กไม่เก่งได้ดีขึ้นด้วย

“การปรับรูปแบบข้อสอบของ ป.6 ในปีนี้ เป็นการปรับที่เล็กน้อยมากเพียง 1-2% จึงทำให้ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ดังนั้นในปีหน้าคงต้องปรับให้มากขึ้น โดยจะเน้นการอ่านบทความ และถามคำถามที่มีหลายคำตอบในลักษณะเดียวกันกับข้อสอบ O-NET ของ ม.6 ที่มีการปรับใหม่ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า การปรับข้อสอบของ ป.6 ใหม่นั้น น่าจะไม่มีเสียงโวยวายมากเท่าใดนัก ซึ่งไม่อยากให้นักเรียนต้องกังวล เพราะข้อสอบใหม่เนื้อหาจะเหมือนเดิม เพียงแต่ปรับรูปแบบเท่านั้น เช่น วิชาภาษาไทย ก็จะมีบทความสั้นๆ ให้อ่านเพิ่มขึ้น สำหรับข้อสอบของ ม.3 นั้น ในปีนี้ปรับรูปแบบไปเพียง 10-20% แต่ค่าการเดาก็ลดลงทุกวิชาแล้ว ดังนั้นในปีหน้าก็อาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” ผอ.สทศ. กล่าว




ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวด้วยว่า รูปแบบของข้อสอบส่วนใหญ่ในทั่วโลกจะไม่มีประเทศใดที่คิดเพียงรูปแบบเดียว ส่วนใหญ่จะมี 2-3 รูปแบบใน 1 วิชา ซึ่งในส่วนของ สทศ.นั้น ยังคงยึดหลักที่จะให้แต่ละวิชามีรูปแบบไม่เกิน 3 แบบ โดย ม.6 จะเป็น 3 รูปแบบ ม.3 และ ป.6 เป็น 2 รูปแบบ ทั้งนี้ถึงเวลาแล้วที่ สทศ.จะต้องนำสังคม ไม่ใช่ทำตามสังคม เพราะหากยังคงให้ สทศ.ออกข้อสอบตามรูปแบบเดิม มีเพียงรูปแบบเดียว ข้อสอบมี 4 ตัวเลือก เด็กก็คงไม่มีการพัฒนา ซึ่งอยากฝากไปยังผู้ปกครองทุกคน ว่า ขอให้ช่วยกันพัฒนาเด็กทั้งโรงเรียน ไม่ใช่ส่งลูกตนเองไปกวดวิชาเพียงอย่างเดียว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 เมษายน 2553 06:55 น.

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

ผลสอบ"โอเน็ต"เด็กตกทั้งประเทศ

กวดวิชา ติวออนไลน์ ตะลุยข้อสอบ โดย เว็บการศึกษาดอทคอม kanzuksa.com

ผลสอบ"โอเน็ต"เด็กตกทั้งประเทศ





สั่งเร่งปรับปรุง


เผยเด็กไทยสอบ “โอเน็ต” ตกทั้ง ปท. “รมช.” ถึงกับอึ้ง เผยคะแนนอังกฤษต่ำสุด ผงะ ผลสอบ ม.6 ตกทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา จี้ทุกภาคส่วนเร่งปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ตั้งเป้า 5 ปี คะแนนเฉลี่ยต้องสูงขึ้น ส่วนบรรยากาศจับสลากเข้า ม.1 วันแรกคึกคัก พ่อแม่แห่ลุ้นลูก บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนจับสลาก ศธ.ยัน นร.ทุกคนมีที่เรียน



เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 1 เม.ย. ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษา ธิการ พร้อมด้วย ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สทศ. แถลงข่าวเกี่ยวกับ “ผลวิเคราะห์ค่าสถิติคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือ โอเน็ต ปีการศึกษา 2552 และค่าสถิติคะแนนผลการทดสอบความถนัดทั่วไป และความถนัดทางวิชาชีพ/ วิชาการ หรือ แกต-แพต ครั้งที่ 1/2553 (เดือนมีนาคม)



นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จากผลสรุปการจัดการสอบ แกต และ แพต เรียบร้อยดี ในส่วน โอเน็ต มี นักเรียน ป.6 เข้าสอบ 8.9 แสนคน ม.3 เข้าสอบ 7.9 แสนคน และม.6 เข้าสอบ 3.5 แสนคน โดยทุกช่วงชั้นจะสอบ 8 กลุ่มสาระ คือวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา อังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยีนั้น พบว่าคะแนนเฉลี่ย นักเรียน ป.6 สูงขึ้น แต่นักเรียน ม.3 และ ม.6 ไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา สำหรับ ป.6 วิชาที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือ สุขศึกษาและพลศึกษา 64.76 ต่ำสุดคือ ภาษาอังกฤษ 31.75 ส่วน ม.3 เฉลี่ยสูงสุดคือสุขศึกษาและพลศึกษา 56.70 เฉลี่ยต่ำสุดคือ ภาษาอังกฤษ 22.54 และ ม.6 เฉลี่ยสูงสุดคือ ภาษาไทย 46.47 เฉลี่ยต่ำสุดคือ ภาษาอังกฤษ 23.98



นายชัยวุฒิ กล่าวต่อไปว่า จากคะแนนเฉลี่ย นักเรียนป.6 ม.3 และ ม.6 ส่วนใหญ่ ในทุกกลุ่มสาระ ที่ไม่ถึงร้อยละ 50 นั้นตนไม่อยากบอกว่าเด็กสอบตกทั้งประเทศ แต่คะแนนที่ได้ไม่แตกต่างจากเดิม คือ ตกเหมือนเดิม และยอมรับว่าคะแนน เฉลี่ยไม่ค่อยดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม คะแนน นี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในทุกวิชา โดยเป้าหมายของรัฐบาลคือ 5 ปีข้างหน้า คะแนนเฉลี่ยของทุกกลุ่มสาระวิชา ของทุกช่วงชั้นจะต้องสูงขึ้น



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คะแนนเฉลี่ยของนักเรียน ป.6, ม.3 และ ม.6 ไม่ถึงร้อยละ 50 เกือบทุกวิชา โดยเฉพาะชั้นม.6 ไม่มีวิชาใดถึงร้อยละ 50 ดังนี้ ภาษาไทย 46.47 สุขศึกษา 45.37 ศิลปะ 37.75 สังคมศึกษา 36.00 การงานอาชีพและเทคโนโลยี 32.98 วิทยาศาสตร์ 29.06 คณิตศาสตร์ 28.56 และภาษาอังกฤษ 23.98



ส่วนบรรยากาศการจับสลากนักเรียนชั้น ม.1 เป็นไปอย่างคึกคัก โดยช่วงเช้าวันเดียวกัน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการจับสลากนักเรียนชั้น ม.1 ที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ปกครองและนักเรียนทยอยเดินทางมารอการจับสลากฯ บางรายได้มีการนำพวงมาลัยดอกดาวเรือง มาสักการะเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เพื่อขอพรให้จับสลากได้ เช่นเดียวกับบรรยากาศตามโรงเรียนชื่อดัง อื่น ๆ ที่เปิดให้มีการจับสลากเข้า ม.1 เช่น โรงเรียนหอวัง โรงเรียนศรีอยุธยา เป็นต้น



นายชินภัทร กล่าวว่า สำหรับนักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียน ผู้ปกครองสามารถพานักเรียนไปยื่นความจำนงที่ สพท. ที่นักเรียนมีชื่ออยู่ หรือโรงเรียนใกล้บ้าน เพื่อให้จัดสรรที่เรียนรอบ 2 ให้ โดยสามารถยื่นความจำนงได้ตั้งแต่วันที่ 4-5 เม.ย. และจะประกาศผลให้ทราบวันที่ 8 เม.ย. รายงานตัววันที่ 9 เม.ย. โดยยืนยันว่า สพฐ. มีที่เรียนเพียงพอให้กับนักเรียนทุกคน ส่วนการรับนักเรียนเพิ่มเติมในโรงเรียนแต่ละแห่งนั้น สพฐ. ให้ สพท. เป็นผู้พิจารณา แต่จะต้องขยายไม่เกิน 45 คนต่อห้อง ในส่วนการรับนักเรียนชั้น ม.4 ที่มีการสอบขึ้นบัญชีไว้นั้น จะต้องพิจารณา นักเรียนที่จบชั้น ม.3 โรงเรียนเดิมก่อน หากทางสถานศึกษาต้องการขยายห้องเรียนนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ สพท. แต่จะต้องไม่เกิน 45 คนต่อห้องเช่นเดียวกัน.



ข้อมูลจาก นสพ. เดลินิวส์ 02/ 04/ 2010
ขอขอบคุณรูปจาก เว็บ Dek D