วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552

เคล็ดลับเก่งฟิสิกส์ คนเก่งโอลิมปิกเปิดใจ

กวดวิชา ติวออนไลน์ เฉลยข้อสอบ แหล่งความรู้ โดย เว็บการศึกษาดอทคอม


เคล็ดลับเก่งฟิสิกส์ คนเก่งโอลิมปิกเปิดใจ


ปีนี้เวทีแข่งขันระดับชาติที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพและเดินหน้าต่อเนื่อง สร้างชื่อเสียงให้สยามเมืองยิ้มได้เป็นผลสำเร็จ ต้องถือว่าเวทีวิชาการที่โหดหินอย่างฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย มีส่วนช่วยเชิดชูเกียรติภูมิบ้านเราและกระชับมิตรภาพกับเพื่อนบ้านได้อย่างอบอุ่นงานหนึ่ง โดยมีหัวกะทิจาก 15 ประเทศเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 17 ทีม รวมผู้แข่งขัน 119 คน



การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ครั้งที่ 10 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 เม.ย.-2 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมฟิสิกส์ไทย จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้น้องๆ ตัวแทนประเทศไทยส่วนหนึ่งใน 8 คน ร่วมไขข้อข้องใจว่าวิชายากที่ใครๆ ก็บ่นอุบว่า "หิน" อย่างฟิสิกส์นั้น พวกเขามีวิธีอย่างไรถึงได้มีความสุขกับการเรียนวิชานี้

น้องตั้ว นายธนภัทร วรศรัณย์ ชั้นม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม บอกว่า เป็นคนสนใจวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว โดยเฉพาะฟิสิกส์ เพราะเป็นวิชาที่ไม่ต้องท่องจำ และหลักการของฟิสิกส์นำมาใช้อธิบายได้จริงในทุกกรณี นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในการเรียนอีกข้อหนึ่งคือ ครูผู้สอน ต้องคำนึงถึงความสนุกสนานในการสอนไปพร้อมๆ กับความรู้ด้วย เพราะจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ อยากเรียนรู้


"ผมเรียนด้วยความรักและมีความสุขในการเรียนวิชานี้ ถ้าเรารักในวิชาใดก็จะเรียนได้ดี ก่อนหน้านี้ผมให้ความสำคัญกับวิชาอื่นๆ 40% ส่วนฟิสิกส์ 60% แต่เดี๋ยวนี้ผมให้เวลากับฟิสิกส์ 100%"

น้องตั้วเผยว่า เขาก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ยังเล่นเกม เล่นดนตรี หรือทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง แต่ไม่กระทบต่อการเรียน เพราะสิ่งสำคัญคือต้องรู้จักจัดสรรเวลาให้เป็น


น้องปริ๊นซ์ นายอิสระพงศ์ เอกสินชล ชั้นม.5 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เป็นอีกคนที่ย้ำถึงวิธีเรียนที่ดีว่า ควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรเวลาในชีวิตให้เหมาะสม ทั้งเรื่องการนอน อาหาร การออกกำลังกาย และการทบทวนบทเรียนสม่ำเสมอ รวมทั้งหาความรู้เพิ่มเติมด้วย


"เรื่องอ่านหนังสือต้องรู้ว่าควรอ่านเล่มใดก่อน-หลัง เช่น หนังสือฟิสิกส์ที่อธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายผมเลือกอ่านเล่มนั้นก่อน หลังจากนั้นค่อยทำความเข้าใจกับเรื่องที่ลึกซึ้งขึ้นไป ไม่ข้ามขั้นตอนครับ"



น้องวี นายวีรภัทร พิทยครรชิต ชั้นม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา บอกว่า ถ้าเราอยากเรียนให้เก่งวิชาใด เราต้องขยันในวิชานั้นๆ ต้องอ่านหนังสือทุกวันเพื่อทบทวน ใช้เวลาอยู่กับมัน ทำความเข้าใจ คิดให้เยอะๆ



"สำหรับผมต้องตั้งเป้าหมายในอนาคตไว้ก่อน เพื่อจะได้มีจุดมุ่งหมายที่จะเรียนรู้ และเป็นการช่วยกระตุ้นให้เราเดินหน้าต่อไป การจะทำอะไรก็ตามถ้าเราทำมันไปวันๆ แบบไม่มีเป้าหมายก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม การมีเป้าหมายสำหรับผมจึงสำคัญ"



น้องเกรท นายสรณภพ เทวปฏิคม ชั้นม.6 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แม้จะเรียนดีแต่ก็ไม่ทิ้งการเล่นตามวัย ทั้งเล่นดนตรีและกีฬา เผยว่า ถ้าอยากเรียนให้เก่งก็ต้องมีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่ คือถ้าเรารักในสิ่งที่เรากำลังเรียน มันจะทำให้เรามีความพยายาม ตั้งใจ และพร้อมเรียนรู้ด้วยตนเอง



น้องเบน นายธิปก รักอำนวยกิจ ชั้นม.4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ให้ทรรศนะว่า บางคนอาจไม่ถนัดเรื่องวิชาการ แต่การเรียนเป็นสิ่งจำเป็นและมีคุณค่าต่อชีวิต เราจึงต้องตั้งใจให้มาก ผมอยากให้ครูสอนวิทยาศาสตร์เน้นให้เด็กคิดเป็น เพราะวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่มีเนื้อหามาก หลายๆ ครั้งจึงกลายเป็นว่าเด็กต้องมาท่องจำเนื้อหา


ถือเป็นเทคนิคการเรียนวิชา "หิน" และสะท้อนมุมคิดระบบการศึกษาไทยที่ไม่ควรมองข้าม


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก  ข่าวสด ออนไลน์
 คอลัมน์ : ไอคิวทะลุฟ้า



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น